Nuremberg Trials (1945-1949)

การพิจารณาคดีนูเรมเบิร์ก (๒๔๘๘-๒๔๙๒)

​​​​​     การพิจารณาคดีนูเรมเบิร์กเป็นการพิจารณา คดีผู้นำคนสำคัญของพรรคแรงงานสังคมนิยมแห่งชาติ (National Socialist German Workers Party)* หรือพรรคนาซี (Nazi Party)* และสมาชิกพรรคนาซีรวมทั้งผู้ที่สนับสนุนพรรคนาซีที่ เมืองนูเรมเบิร์กหรือเนือร์นแบร์ก (Nürnberg) เยอรมนีระหว่าง ค.ศ. ๑๙๔๕-๑๙๔๙ อันเป็นผลมาจากการกระทำความผิดหรือก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติของเยอรมนีในระหว่าง สงครามโลกครั้งที่ ๒ (Second World War)* เป็นการพิจารณาคดีโดยเปิดเผยและต่อเนื่อง แต่ครั้งที่สำคัญและโดดเด่นเป็นที่รู้จักกันมากที่สุดคือการพิจารณาบรรดาผู้นำนาซีคนสำคัญรวม ๒๒ คนซึ่งไม่นับผู้เสียชีวิตและสูญหายระหว่างวันที่ ๒๐ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๔๕ ถึงวันที่ ๑ ตุลาคม ค.ศ. ๑๙๔๖ เป็นการพิจารณาคดีที่มีชื่อเรียกเป็นทางการว่า "การพิจารณาคดีอาชญากร คนสำคัญต่อศาลทหารระหว่างประเทศ" (Trial of The Major War Criminals Before the International Military Tribunal - IMT) จำเลย ๑๒ คนจาก ๒๒ คนดังกล่าวถูกตัดสินมีความผิดตามข้อกล่าวหาและได้รับโทษตัดสินประหารชีวิต ๗ คนถูกจำคุก ส่วนอีก ๓ คนพ้นข้อกล่าวหา ในการพิจารณาคดียังมีการพิจารณาว่าองค์การของพรรคนาซีคือ หน่วยเอสเอส (SS-Schulzstaffel - Defence Unit)* หน่วยเอสดี (SD - Sicherheitsdienst-Intelligence and Security Body)* และหน่วยเกสตาโป (Gestapo)* เป็นองค์การอาชญากรรมซึ่งบรรดาสมาชิกของทั้ง ๓ องค์การดังกล่าวต้องถูกขึ้นศาลเพื่อพิจารณาความผิดด้วย
     การพิจารณาคดีนูเรมเบิร์กมีจุดเริ่มต้นจากข้อเสนอแนะของเวียเชสลัฟ โมโลตอฟ (Vyacheslav Molotov)* รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศโซเวียตที่ ทำบันทึกถึงผู้นำรัฐบาลพลัดถิ่นของประเทศยุโรปตะวันออกต่าง ๆ ในกรุงลอนดอนระหว่างที่สงครามกำลังดำเนินอยู่เมื่อวันที่ ๑๔ ตุลาคม ค.ศ. ๑๙๔๒ โดยกล่าวว่าเมื่อสงครามสิ้นสุดลง รัฐบาลโซเวียตประสงค์จะนำตัวผู้นำคนสำคัญในรัฐบาลพรรคนาซีขึ้นศาลพิเศษระหว่างประเทศเพื่อพิจารณาคดีในข้อหาอาชญากรสงคราม แนวความคิดดังกล่าวมีที่มาจากความไม่พอใจของรัฐบาลโซเวียตต่อนโยบายของอังกฤษที่ ปฏิเสธไม่พิจารณาโทษรูดอล์ฟ เฮสส์ (Rudolf Hess)* ผู้นำคนสำคัญของพรรคนาซีที่ลอบบินเดี่ยวจากเยอรมนีมาสกอตแลนด์ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๔๑ และ ถูกจับคุมขังไว้ รัฐบาลโซเวียตหวาดระแวงว่าอังกฤษอาจตกลงเจรจาลับกับเยอรมนีซึ่งจะทำให้สถานการณ์สงครามพลิกผันได้ โมโลตอฟจึงเปิดประเด็นเรื่องการพิจารณาคดีผู้นำนาซีขึ้นเพื่อกดดันฝ่ายพันธมิตรตะวันตกให้คิดดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่ง แม้ประเทศพันธมิตรตะวันตกจะยังไม่ให้ความสำคัญเกี่ยวกับการจะจัดให้มีการพิจารณาคดีหลังสงครามยุติลงเท่าใดนักเพราะมุ่งหวังพิชิตสงครามก่อนแต่ก็เห็นชอบในหลักการที่จะต้องมีการลงโทษผู้นำนาซีคนสำคัญหากจับกุมตัวได้
     ต่อมา ในต้นเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๔๓สหภาพโซเวียต อังกฤษและสหรัฐเมริกาได้ออกแถลงการณ์ร่วมที่เรียกว่า "คำประกาศแห่งมอสโก" (Moscow Declaration) ซึ่งวางกรอบแนวทางการลงโทษอาชญากรสงครามนาซีโดยให้สอดคล้องกับกฎหมายของแต่ละประเทศ แต่คำประกาศดังกล่าวก็ไม่ระบุชัดเจนว่าจะให้มีการพิจารณาคดีผู้นำนาซีในศาลพิเศษระหว่างประเทศ หลังการออกคำประกาศแห่งมอสโกไม่นานนักวินสตัน เชอร์ชิลล์ (Winston Churchill)* นายกรัฐมนตรี อังกฤษเสนอให้มีการจัดทำบัญชีชื่อผู้นำนาซีจำนวน ๕๐-๑๐๐ คน และให้คณะกรรมาธิการผู้พิพากษาระหว่างประเทศพิจารณาตรวจสอบและประกาศว่ามีชื่อ


บุคคลใดที่ถือเป็น "คนนอกกฎหมาย" ข้อเสนอของเชอร์ชิลล์ได้ถูกนำมาหารือกันในการประชุมที่เตหะราน (Tehran Conference ๒๘ พฤศจิกายน ถึง ๑ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๔๓)* ระหว่างประธานาธิบดีแฟรงกลิน เดลาโน รูสเวลต์ (Franklin Delano Roosevelt) แห่งสหรัฐอเมริกาเชอร์ชิลล์และโจเซฟ สตาลิน (Josef Stalin)* ผู้นำสหภาพโซเวียต แต่ก็ยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจน
     ในเดือนกันยายน ค.ศ. ๑๙๔๔ เฮนรี มอร์เกนเทา จูเนียร์ (Henry Morgenthau Jr.) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของสหรัฐอเมริกาได้เสนอแผนการล้มล้างอิทธิพลนาซี (denazification) ในเยอรมนีด้วยการประหารชีวิตหรือเนรเทศผู้นำนาซีตลอดจนการทำลาย ระบบเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของเยอรมนีในลักษณะเดียวกับที่เยอรมนีเคยได้รับในสนธิสัญญาแวร์ซาย (Treaty of Versailles)* ประธานาธิบดีรูสเวลต์เห็นด้วยกับแผนของมอร์เกนเทา แต่เฮนรี ที. สติมสัน (Henry T. Stimson) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมคัดค้านการทำลายระบบเศรษฐกิจของเยอรมนีและ ต่อต้านอย่างแข็งขันเกี่ยวกับการใช้มาตรการประหารชีวิตที่ไม่เป็นไปตามกระบวนการยุติธรรม รูสเวลต์จึงแต่งตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นชุดหนึ่งเพื่อพิจารณาและนำไปสู่การจัดทำแผน "การพิจารณาคดีอาชญากรสงครามยุโรป" (Trial of European War Criminals) ในการประชุมที่ยัลตา (Yalta Conference ๔-๑๑ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๔๕)* เชอร์ชิลล์เห็นด้วยกับแผนการพิจารณาคดีอาชญากรสงครามยุโรปและสตาลินพยายามโน้มน้าว ทั้งรูสเวลต์และเชอร์ชิลล์ให้ใช้กระบวนการทางศาลเป็นแนวทางปฏิบัติ แต่ที่ประชุมก็ยังคงไม่มีมติใด ๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้อีก
     อย่างไรก็ตาม ในการประชุมที่พอทสดัม (Potsdam Conference ๑๗ กรกฎาคม - ๒ สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๔๕)* ประธานาธิบดีเฮนรี เอส ทรูแมน (Harry S Truman) ผู้นำสหรัฐอเมริกาคนใหม่และเคลเมนต์ ริชาร์ด แอตต์ลี (Clement Richard Attlee)* นายกรัฐมนตรีอังกฤษจากพรรคแรงงาน (Labour Party)* ซึ่งเพิ่งชนะในการเลือกตั้งและเข้าร่วมประชุมแทนเชอร์ชิลล์ต่างเห็นชอบกับข้อเสนอของสตาลินที่จะใช้กระบวนการทางการศาล ที่ประชุมจึงเห็นชอบให้จัดตั้งศาลทหาร ระหว่างประเทศ (International Military Tribunal) ขึ้นเพื่อดำเนินคดีผู้นำนาซีและให้มีคณะผู้พิพากษาและคณะพนักงานอัยการเป็นชาวอเมริกัน อังกฤษ ฝรั่งเศส และรัสเซีย ส่วนทนายจำเลยเป็นชาวเยอรมัน ที่ประชุมยังมีมติให้ดำเนินการล้มล้างอิทธิพลของลัทธินาซีใน เยอรมนีเพื่อผลักดันให้เยอรมนีเป็นประเทศประชาธิปไตย และกำหนดการเริ่มพิจารณาคดีในวันที่ ๒๐ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๔๕ ที่เมืองนูเรมเบิร์ก ประเทศสมาชิกขององค์การสหประชาชาติ (United Nations)* ที่เพิ่งจัดตั้งขึ้นรวม ๑๙ ประเทศก็ได้ให้สัตยาบันความตกลงเรื่องการลงโทษเยอรมนีว่าด้วยกระบวนการทางศาลและการจัดตั้งศาลทหารระหว่างประเทศ
     ในการเลือกสถานที่พิจารณาคดี ในระยะแรกสหภาพโซเวียตยืนยันจะให้ดำเนินการพิจารณาคดีที่กรุงเบอร์ลินซึ่งเคยเป็นศูนย์บัญชาการของอดีตจักรวรรดิไรค์ที่ ๓ (Third Reich)* และเพื่อเสริมเกียรติภูมิของกองทัพแดง (Red Army)* ในการยึดครองกรุงเบอร์ลิน แต่ความพินาศอย่างย่อยยับของกรุงเบอร์ลินทำให้สหภาพโซเวียตต้องยอมเปลี่ยนสถานที่และท้ายที่สุดประเทศมหาอำนาจก็เห็นพ้องในการเลือกเมืองนูเรมเบิร์กเป็นสถานที่พิจารณาคดีและกำหนดให้กรุงเบอร์ลินเป็นสถานที่ ตั้งถาวรของศาลทหารระหว่างประเทศ การเลือกเมืองนูเรมเบิร์กเป็นเพราะทำเลที่ตั้งอยู่ในเขตยึดครองของสหรัฐอเมริกาและมีเส้นทางคมนาคมที่เข้าถึงได้สะดวก ที่ ทำการศาลหรือพาเลซ ออฟจัสติส (Palace of Justice) เป็นอาคารสถานที่ไม่กี่แห่งที่รอดพ้นจากการถูกโจมตีทิ้งระเบิดอย่างหนักจากฝ่ายพันธมิตรก็มีอาณาบริเวณกว้างขวาง ทั้งยังมีคุกขนาดใหญ่รวมอยู่ในเขตพื้นที่ด้วย นูเรมเบิร์กซึ่งได้ชื่อว่าเป็น "นครแห่งการชุมนุมของพรรคนาซี" (City of the Party Rallies)ยังเป็นที่ มาของการออกกฎหมายนูเรมเบิร์ก (Nuremberg Laws)* ค.ศ. ๑๙๓๕ ซึ่งนำไปสู่การกำหนดนโยบายกวาดล้างชาวยิวจึงเหมาะสมที่จะใช้เป็นเมืองสัญลักษณ์ในการทำลายล้างพรรคนาซีด้วย
     ในการดำเนินการพิจารณาคดี ทั้ง ๔ ประเทศมหาอำนาจได้แต่งตั้งผู้พิพากษาและผู้พิพากษาสำรอง (alternative judge) ประเทศละ ๒ คน รวมทั้งคณะพนักงานอัยการซึ่งประกอบด้วยชาวอเมริกัน ๓ คนอังกฤษ ๗ คน ฝรั่งเศส ๔ คน (แต่หลังเดือนมกราคม ค.ศ. ๑๙๔๖ เหลือเพียง ๓ คน) และสหภาพโซเวียต ๒ คน เซอร์เจฟฟรีย์ ลอว์เรนซ์ (Sir Geoffrey Lawrence) ผู้พิพากษาชาวอังกฤษได้รับเลือกให้เป็นประธานคณะผู้พิพากษา มีการตั้งข้อกล่าวหาเหล่าผู้นำพรรคนาซี รวม ๔ กระทงคือ (๑) การคบคิดวางแผนด้วยการก่ออาชญากรรมตามที่ศาลอื่น ๆ ได้ตัดสินแล้ว (๒) การก่ออาชญากรรมต่อสันติภาพด้วยการวางแผนและก่อสงคราม (๓) เป็นอาชญากรสงครามด้วยการมีหน้าที่รับผิดชอบต่ออาชญากรรมที่เกิดขึ้นระหว่างสงครามและ (๔) การก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติด้วยการปกปิดการเข่นฆ่าทางเชื้อชาติ คณะผู้พิพากษาเห็นชอบให้มีการจัดทำบัญชีรายชื่อผู้นำนาซีที่โดดเด่นซึ่งรอดชีวิตจากสงครามเพื่อนำตัวขึ้นพิจารณาคดีทั้งให้ประกาศบัญชีรายชื่อดังกล่าวแก่สาธารณชนด้วย ในปลายเดือนสิงหาคม ค.ศ. ๑๙๔๕ ก็มีการประกาศรายชื่อผู้นำนาซีที่ถูกกล่าวหารวม ๒๖ คน และในจำนวนดังกล่าวมีชื่อผู้นำนาซีที่เสียชีวิตไปแล้ว ๓ คนคือ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler)* ไฮน์ริช ฮิมเลอร์ (Heinrich Himmler)* และโยเซฟ เพาล์ เกิบเบิลส์ (Joseph Paul Goebbels)* รวมทั้งที่หายสาบสูญไปอีก ๑ คนคือมาร์ติน บอร์มันน์ (Martin Bormann)*
     ก่อนการพิจารณาคดีเริ่มขึ้น โรเบิร์ต เลย์ (Robert Ley) ผู้นำกลุ่มแนวร่วมกรรมกร (Labour Front) ซึ่งเป็นจำเลยได้แขวนคอตนเองในห้องขัง จึงเหลือผู้ต้องหาเพียง ๒๒ คน การพิจารณาคดีเริ่มขึ้นเมื่อวันที่ ๒๐ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๔๕ ดำเนินการโดยใช้ภาษาต่างประเทศ ๔ ภาษา เอกสารหลักฐานทั้งหมดรวบรวมได้ ๔๒ เล่มใหญ่และหลักฐานเอกสารชิ้นสำคัญชิ้นหนึ่งที่ใช้พิสูจน์ว่าเหล่าผู้นำนาซีเป็นผู้วางแผนก่อสงครามจนเป็นเหตุให้เกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒ คือบันทึกช่วยจำฮอสบัค (Hossbach Memorandum)* การพิจารณาคดีสิ้นสุดลงเมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม ค.ศ. ๑๙๔๖ จำเลยส่วนใหญ่ถูกศาลตัดสินประหารชีวิตและมีเพียง ๓ คนเท่านั้นที่ ได้รับการปล่อบตัว ดังรายละเอียดคือ

จำเลย (อายุ) คำตัดสิน การลงโทษ
๑. แฮร์มันน์ เกอริง (Herrman Göring)* วัย ๕๓ ปี ผิดทั้ง ๔ ข้อหา ประหารชีวิต
๒. รูดอล์ฟ เฮสส์ วัย ๕๒ ปี ผิดในข้อหาที่ ๑ และ ๒ จำคุกตลอดชีวิต
๓. โจอาคิม ฟอน ริบเบนทรอฟ (Joachim von Ribbentrop)* วัย ๕๓ ปี ผิดทั้ง ๔ ข้อหา ประหารชีวิต
๔. วิลเฮล์ม คีเทล (Wilhelm Keitel) วัย ๖๔ ปี ผิดทั้ง ๔ ข้อหา ประหารชีวิต
๕. แอนสท์ คาลเทนบรุนเนอร์ (Ernst Kaltenbrunner) วัย ๔๓ ปี ผิดในข้อหาที่ ๓ และ ๔ ประหารชีวิต
๖. อัลเฟรด โรเซนแบร์ก (Alfred Rosenberg)* วัย ๕๓ ปี ผิดทั้ง ๔ ข้อหา ประหารชีวิต
๗. ฮันน์ แฟรงค์ (Hans Franks) วัย ๔๖ ปี ผิดในข้อหาที่ ๓ และ ๔ ประหารชีวิต
๘. ยูลีอุส ชไตรเชอร์ (Julius Streicher)* วัย ๖๑ ปี ผิดทั้ง ๔ ข้อหา ประหารชีวิต
๙. วิลเฮล์ม ฟริค (Wilhelm Frick) วัย ๖๙ ปี ผิดในข้อหาที่ ๒, ๓ และ ๔ ประหารชีวิต
๑๐. วัลเทอร์ ฟุงค์ (Walther Funk) วัย ๕๖ ปี ผิดในข้อหาที่ ๒, ๓ และ ๔ จำคุกตลอดชีวิต (แต่ถูกปล่อยตัวใน ค.ศ. ๑๙๕๗)
๑๑. ยาลมาร์ ชาคท์ (Hjalmar Schacht)* วัย ๖๓ ปี ไม่ผิด ปล่อยตัว
๑๒. คาร์ล เดอนิทซ์ (Karl Doenitz)* วัย ๕๗ ปี ผิดในข้อหาที่ ๒ และ ๓ จำคุก ๑๐ ปี
๑๓. เอริช เรเดอร์ (Erich Raeder) วัย ๗๐ ปี ผิดในข้อหาที่ ๒, ๓ และ ๔ จำคุกตลอดชีวิต (แต่ถูกปล่อยตัวใน ค.ศ. ๑๙๕๕)
๑๔. บัลดูร์ ฟอน ชีรัค (Baldur von Schirach) วัย ๓๙ ปี ผิดทั้ง ๔ ข้อหา จำคุก ๒๐ ปี
๑๕. ฟริทซ์ เซาเคิล (Fritz Sauckel) วัย ๕๑ ปี ผิดในข้อหาที่ ๒ และ ๔ ประหารชีวิต
๑๖. อัลเฟรด โยดล์ (Alfred Jodl) วัย ๕๖ ปี ผิดทั้ง ๔ ข้อหา ประหารชีวิต
๑๗. ฟรันซ์ ฟอน พาเพิน (Franz von Papen)* วัย ๖๔ ปี ไม่ผิด ปล่อยตัว
๑๘. อาร์ทูร์ ไซค์-อินควาร์ท (Arthur Seyss-Inquart) วัย ๕๔ ปี ผิดในข้อหาที่ ๒, ๓ และ ๔ ประหารชีวิต
๑๙. อัลแบร์ ชเปร์ (Albert Speer)* วัย ๔๑ ปี ผิดในข้อหาที่ ๓ และ ๔ จำคุก ๒๐ ปี
๒๐. คอนแสตนติน ฟอน นอยรัท (Constantin von Neurath)* วัย ๗๓ ปี ผิดทั้ง ๔ ข้อหา จำคุก ๑๕ ปี (แต่ถูกปล่อยตัวใน ค.ศ. ๑๙๕๔)
๒๑. ฮันท์ ฟริทซ์เชอ (Hans Fritzsche) วัย ๔๖ ปี ไม่ผิด ปล่อยตัว

๒๒. มาร์ติน บอร์มัน (Martin Bormann) วัย ๔๕ ปี ไม่ได้ปรากฏตัวที่ศาล

ผิดในข้อหาที่ ๓ และ ๔ ประหารชีวิต

     นอกจากการพิจารณาคดีเหล่าผู้นำพรรคนาซีแล้ว ศาลยังพิจารณาตัดสินว่าองค์การของพรรคนาซีคือหน่วยเอสเอส เกสตาโป และหน่วยเอสดีเป็นองค์การอาชญากรรมและสมาชิกของทั้ง ๓ องค์การตั้งแต่ระดับผู้นำหน่วย(Kreisleiter - circleleader) ขึ้นไปต้องถูกนำตัวขึ้นศาลเพื่อพิจารณาโทษ ส่วนหน่วยเอสเอ (SA-Strumabteilung-Stormtroopers)* คณะเสนาธิการทหารและผู้บัญชาการสูงสุดของกองทัพ (High Command of the Armed Forces - OKW) ไม่มีความผิด
     การพิจารณาคดีนูแรมเบิร์กมีอิทธิพลอย่างมากต่อแนวทางการจัดทำกฎหมายอาชญากรรมระหว่างประเทศ สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติได้ให้คณะกรรมาธิการกฎหมายระหว่างประเทศ (International Law Commission) จัดทำรายงานเกี่ยวกับพิจารณาคดีซึ่งพิมพ์เผยแพร่ในรายงานประจำปี ค.ศ. ๑๙๕๐ ในชื่อว่า Principles of International Laws in the Charter of Nürnberg Tribunal and in the Judgement of Tribunal บทรายงานเรื่องนี้ได้เสนอแนะให้มีการจัดตั้งศาลอาชญากรรมระหว่างประเทศ (International Criminal Court) ขึ้นเป็นการถาวร และให้มีการร่างประมวลกฏหมายอาชญากรรมระหว่างประเทศขึ้นซึ่งคณะกรรมาธิการกฏหมายระหว่างประเทศในเวลาต่อมาได้ดำเนินการจัดทำขึ้น อย่างไรก็ตาม ปัญหาการเมืองระหว่างประเทศที่สืบเนื่องจากสงครามเย็น (Cold War ค.ศ. ๑๙๔๕-๑๙๙๑)* ในยุโรปและดินแดนส่วนอื่นๆ ของโลกได้ทำให้แนวความคิดการจัดตั้งศาลอาชญากรรมระหว่างประเทศไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร แต่ในกลางทศวรรษ ๑๙๙๐ เมื่อเกิดการฆ่าล้างชาติพันธุ์ (ethnic cleansing) ในคอซอวอ (Kosovo)* ประเทศต่าง ๆ ในยุโรปจึงเห็นพ้องให้รื้อฟื้นเรื่องการจัดตั้งศาลอาชญากรรมระหว่างประเทศที่ถาวรขึ้นอีกครั้งและในขณะเดียวกันก็ให้ตั้งศาลอาชญากรรมระหว่างประเทศสำหรับอดีตประเทศยูโกสลาเวีย (International Criminal Tribunal for the Former Yugoslavia - ICTY) ขึ้นซึ่งเป็นศาลพิเศษระหว่างประเทศของสหประชาชาติเพื่อพิจารณาไต่สวนอาชญากรรมในสงครามคอซอวอต่อมา ศาลอาชญากรรมระหว่างประเทศก็ถูกจัดตั้งขึ้นเป็นการถาวรที่กรุงเฮก (The Hague) ประเทศเนเธอร์แลนด์ เมื่อวันที่ ๑ กรกฎาคม ค.ศ. ๒๐๐๒ และใน ค.ศ. ๒๐๐๘ มีประเทศสมาชิกทั่วโลกรวม ๑๐๘
     ประเทศแม้การพิจารณาคดีนูเรมเบิร์กจะสิ้นสุดลงในเดือนตุลาคม ค.ศ. ๑๙๔๖ แต่การจับกุมและพิจารณาโทษนายทหารนาซี สมาชิกพรรคนาซี หรือผู้ที่ร่วมมือสนับสนุนพรรคนาซีและอื่น ๆ ในประเทศยุโรปต่าง ๆ ยังคงดำเนินต่อไปอีกหลายปี โดยแต่ละประเทศจะพิจารณาและตัดสินเหล่าบุคคลซึ่งได้ชื่อว่าเป็นอาชญากรสงครามตามกรอบกฎหมายของตนเอง ใน ค.ศ. ๑๙๖๕ คดีเกี่ยวกับนาซีกว่า ๑,๐๐๐ คดีก็ยังไม่อาจปิดคดีได้นาซีคนสำคัญบางคนสามารถหลบหนีโดยปราศจากร่องรอย และแม้บ้างจะตามจับตัวได้แต่ก็ไม่สามารถพิจารณาโทษได้ เพราะขาดหลักฐานที่ชัดเจนและโจทก์ที่เป็นเหยื่อการทารุณกรรมในช่วงระหว่างสงครามก็เสียชีวิตไปแล้ว การพิจารณาคดีนูเรมเบิร์กยังถูกกระตุ้นให้เป็นที่สนใจกันอีกครั้ง เมื่อฮอลลีวูดได้ดัดแปลงเนื้อหาของการพิจารณาคดีนูเรมเบิร์กไปสร้างเป็นภาพยนตร์ในชื่อ Judgment at Nuremberg ( ค.ศ. ๑๙๖๑) โดยเน้นบทบาทของผู้พิพากษาที่ทำหน้าที่พิจารณาคดีภาพยนตร์ดังกล่าวซึ่งได้รับรางวัลออสการ์ (Oscar) ๒ รางวัลได้ทำให้เรื่องราวการพิจารณาคดีนูเรมเบิร์กเป็นที่สนใจกันมากขึ้น และหลังทศวรรษ ๑๙๖๐ เป็นต้นมาก็มีการศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับการพิจารณาคดีนูเรมเบิร์กออกมาเป็นจำนวนมาก.



คำตั้ง
Nuremberg Trials
คำเทียบ
การพิจารณาคดีนูเรมเบิร์ก
คำสำคัญ
- หน่วยเอสเอ
- สงครามเย็น
- โรเซนแบร์ก, อัลเฟรด
- ชาคท์, ยาลมาร์
- ชเปร์, อัลแบร์ท
- ชไตรเชอร์, ยูลีอุส
- คีเทล, วิลเฮล์ม
- คาลเทนบรุนเนอร์, แอนสท์
- ฮิตเลอร์, อดอล์ฟ
- ฮิมม์เลอร์, ไฮน์ริช
- เกอริง, แฮร์มันน์
- องค์การสหประชาชาติ
- เลย์, โรเบิร์ต
- ไรค์ที่ ๓, จักรวรรดิ
- บันทึกช่วยจำฮอสบัค
- บอร์มันน์, มาร์ติน
- กองทัพแดง
- กฎหมายนูเรมเบิร์ก
- เกิบเบิลส์, โยเซฟ เพาล์
- แอตต์ลี, เคลเมนต์ ริชาร์ด
- สติมสัน, เฮนรี ที.
- สนธิสัญญาแวร์ซาย
- สตาลิน, โจเซฟ
- รูสเวลต์, แฟรงกลิน เดลาโน
- ศาลทหารระหว่างประเทศ
- มอร์เกนเทา, เฮนรี, จูเนียร์
- แผนการล้มล้างอิทธิพลนาซี
- การพิจารณาคดีอาชญากรสงครามยุโรป
- พรรคแรงงาน
- ทรูแมน, แฮร์รี เอส
- การประชุมที่เตหะราน
- การประชุมที่ยัลตา
- การประชุมที่พอทสดัม
- หน่วยเอสเอส
- หน่วยเอสดี
- เฮสส์, รูดอล์ฟ
- สงครามโลกครั้งที่ ๒
- โมโลตอฟ, เวียเชสลัฟ
- พรรคแรงงานสังคมนิยมแห่งชาติ
- เชอร์ชิลล์, วินสตัน
- เนือร์นแบร์ก
- คำประกาศแห่งมอสโก
- การพิจารณาคดีนูเรมเบิร์ก
- เกสตาโป
- ชีรัค, บัลดูร์ ฟอน
- เซาเคิลล ฟริทซ์
- ไซส์-อินควาร์ท, อาร์ทูร์
- เดอนิทซ์, คาร์ล
- นอยรัท, คอนสตันติน ไฟรแฮร์ ฟอน
- พาเพิน, ฟรันซ์ ฟอน
- ฟริค, วิลเฮล์ม
- ฟริทซ์เชอ, ฮันส์
- ฟุงค์, วัลเทอร์
- แฟรงค์, ฮันน์
- โยดล์, อัลเฟรด
- คอซอวอ
- เรเดอร์, เอริช
- ริบเบนทรอพ, โยอาคิม ฟอน
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
1945-1949
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
๒๔๘๘-๒๔๙๒
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
สัญชัย สุวังบุตร
บรรณานุกรมคำตั้ง
-
แหล่งอ้างอิง
หนังสือ สารานุกรมประวัติศาสตร์สากลสมัยใหม่ : ยุโรป เล่ม ๕ อักษร L-O ฉบับราชบัณฑิตยสถาน กองธรรมศาสตร์และการเมือง 6.N 577-752.pdf